วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สัปดาห์ที่ 8 เขียนบทความจากเสียงบันทึกเรื่องแก้ไฟริษยา

ริษยาไปเพื่อ...
.....ความอิจฉาริษยามีอยู่ในตัวของคนทุกคน เพราะมันเป็นกิเลสพื้นฐานที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่แบ่งแยกว่าเพศใด ฐานะใด ช่วงอายุไหน ก็ล้วนแต่มีความอิจฉาริษยาเกิดขึ้นในตัวเองทั้งนั้น แต่ความริษยานั้นจะแสดงออกมาหรือไม่นั้น มันขึ้นอยู่กับตัวของแต่ละบุคคลว่าจะควบคุมมันได้หรือไม่
.....ความอิจฉาอาจเกิดได้จากหลายๆอย่าง เช่น อิจฉาคนที่เขามีของดีกว่า แพงกว่า รวยกว่า แต่งตัวสวยกว่า เรียนเก่งกว่า และในอีกหลายๆเรื่อง จนเกิดการนินทากันขึ้น เมื่อนินทากันมากๆเข้า บ้างก็จะพูดใส่ร้ายป้ายสีกัน พูดเพื่อให้คนอื่นๆเกิดความอิจฉาเหมือนๆกับตนเอง และอาจมีในบางกรณีที่มีการกลั่นแกล้งคิดหาทุกวิถีทางที่จะทำให้คนอีกคนที่ตนอิจฉาอยู่นั้นไม่มีทางได้ดีไปกว่าตนเอง ตัวอย่างเช่นนิทานเรื่องนี้ คือ มีพระมหากษัตริย์อยู่เมืองหนึ่งมีโอรสอยู่สองพระองค์ โอรสองค์น้องเป็นคนที่ริษยามาก พระมหากษัตริย์จะตั้งโอรสองค์พี่เป็นรัชทายาทก็กลัวโอรสองค์น้องริษยา แต่จะตั้งโอรสองค์น้องเป็นรัชทายาทก็จะผิดธรรมเนียมประเพณี พระองค์จึงอยากทดสอบความริษยาในตัวของโอรสองค์น้องว่ามีเยอะไหม จึงเรียกโอรสองค์เล็กมาถามว่า เจ้าอยากได้อะไรเจ้าก็จะได้ แต่พี่ของเจ้าจะได้มากกว่าเจ้าเป็นสองเท่า โอรสองค์เล็กบอกว่าขอไปคิดก่อน คิดทั้งคืนในที่สุดก็คิดได้ จึงบอกเสด็จพ่อว่า ขอให้เสด็จพ่อควักลูกตาของหม่อมฉันออกสักข้างหนึ่ง โดยวิธีนี้องค์พี่จะถูกควักออกสองข้าง จากนิทานเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าความริษยานั้นสามารถทำให้คนเราคิดทำอะไรก็ได้ เพื่อที่จะเล่นงานคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าตนเองนั้นจะต้องเจ็บด้วยก็ตาม
.....ความริษยาเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรที่จะแสดงออก หรือประพฤติปฏิบัติหรือแม้แต่จะคิด ในความเป็นจริงเราไม่สามารถควบคุมความริษยานั้นได้ แต่สามารถหาทางกำจัดความริษยานี้ได้โดยขึ้นอยู่กับวิธีของแต่ละบุคคลว่าจะทำอย่างไร เพื่อที่ไม่ให้ความริษยานั้นเข้าครอบงำจิตใจของตนเอง แต่ผู้มีปัญญาเห็นโทษของความริษยาที่ตนได้รับว่า ยิ่งปล่อยให้มีความริษยามาก ตนก็จะได้รับโทษของความริษยามาก ผู้มีปัญญาจึงแก้ไขป้องกันควบคุมมิให้ความริษยาเกิดง่าย และเกิดแรง แม้ว่าจะไม่สามารถดับเสียได้จริงตลอดไป
แหล่งอ้างอิง...http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=3147

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น